|
ภาพการแล่และทำเค็มปลาในภาพฝาผนังของอียิปต์ในสุสานของ Puy-em-re รองสังฆราชแห่งอามุนราว 1,450 ปีก่อนคริสตกาล |
อาหารจะมีรสชาติอร่อย ว่ากันว่าต้องเหยาะเกลือลงไปสักนิด
นั่นเป็นเคล็ด (ไม่) ลับของบรรดาคุณแม่บ้านใช้เสริมเสน่ห์ปลายจวัก
ทว่า...เกลือไม่ได้มี ประโยชน์เพียงแค่นั้น ถ้ามองลึกเข้าไปในประวัติศาสตร์โลก เกลือเป็นสิ่งมีค่ามากมายมหาศาล
ในบางยุคสมัย เกลือมีค่าเทียบเท่าเงินตรา ทำให้เกิดเส้นทางการค้าโลก และเป็นชนวนสงครามในยุคล่าอาณานิคม ฯลฯ
สำนักพิมพ์มติชน ซึ่งมีหนังสือดีๆ มาให้เลือกสรรด้วยราคาเป็นกันเอง แน่นอนว่ารวมทั้งหนังสือซิงๆ ที่เพิ่งออกจากแท่นพิมพ์มาให้ทันซื้อหากันในงานนี้โดยเฉพาะ ที่มติชน โซนพลาซ่า
ใครที่มาขนไปแล้ว 2 คันรถ (เข็น) จะมาขนอีกสักหนึ่งคันรถ (เข็น) งานนี้ไม่ว่ากัน แต่อย่าลืมตรวจสอบหนังสือที่ขนกันไปว่าซื้อไปครบถ้วนหรือยัง อย่างเล่มนี้ "ประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ" หนังสือดีอีกเล่ม ที่อยากจะแนะนำว่าไม่ควรพลาด
" ประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ" เป็นหนังสือแปล ผลงานการเขียนของ มาร์ก เคอร์ลันสกี นักเขียนผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าสามารถหยิบหัวข้อธรรมดาที่คนทั่วไปมองข้าม มาเป็นประเด็นที่สื่อถึงประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังมีสำนวนที่อ่านสนุกและชวนติดตาม
เรืองชัย รักศรีอักษร ผู้แปล บอกเล่าถึงความประทับใจที่ได้จากการแปลหนังสือเล่มนี้ว่า คือความอัจฉริยะของเคอร์ลันสกี ที่สามารถเขียนประวัติศาสตร์ให้เป็นเหมือนนิยายที่อ่านสนุก เพลิดเพลิน ให้ความรู้และแง่มุมต่างๆ ทั้งทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การเมือง ศาสนา และขนบประเพณีของชาติต่างๆ ในอดีตได้อย่างน่าสนใจโดยผ่านเกลือ
" เคอร์ลันสกีนำเสนออดีตและปัจจุบันของการผลิตและการค้าเกลือ ทำให้เราได้รู้ว่าเบื้องหลังของประวัติศาสตร์โลกล้วนเกี่ยวข้องกับเกลือ อย่างเช่นกำแพงเมืองจีนสร้างจากภาษีเกลือ กองทัพโรมันที่เกรียงไกรก็สร้างขึ้นจากภาษีเกลือ อาณาจักรมายามีรากฐานจากการผลิตและค้าเกลือ
การค้าระหว่างประเทศในยุคกลางมีเกลือและผลิตภัณฑ์จากเกลือ อย่างปลาเค็มและเนื้อเค็มเป็นสินค้าหลัก
เกลือเป็นสินค้าสำคัญของจักรวรรดิอังกฤษที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายใต้พ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองของสหรัฐมาจากการขาด แคลนเกลือ การเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของอินเดียจากอังกฤษเริ่มจากการคัดค้านการผูกขาด เกลือของจักรวรรดิอังกฤษ
|
การขนส่งเกลือด้วยเกวียนเทียมอูฐไปยังทางรถไฟที่ทะเลสาบบาสคุนต์ชัก ทางตอนใต้ของอุราล ในรัสเซีย ราว ค.ศ.1929 (ขวาบน) ภาพพิมพ์งานไม้ของอังกฤษในศตวรรษที่สิบแปด แสดงถึงการหมักและตากแห้งปลาคอด ในนิวฟาวนด์แลนด์ (ซ้ายล่าง) ภาพจำลองภายในสุสานตุตันคาเมน |
วิชาเคมี โบราณคดี และธรณีวิทยา เกิดขึ้นจากการค้นคว้าเรื่องเกลือ ฯลฯ
ลองเปิดเข้าไปอ่านเรื่องราวอันน่าทึ่งของ "เกลือ" ใน "ประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ"
... เป็นเวลาหลายพันปีแล้วที่เกลือเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง พ่อค้าเกลือในแคริบเบียนจะเก็บเกลือไว้ในห้องใต้ดิน ชาวจีน ชาวโรมัน ชาวฝรั่งเศส ชาวเวนิชตระกูลอัพเบิร์ก และรัฐบาลอื่นๆ อีกมากมายได้เก็บภาษีเกลือเพื่อหาเงินในการทำสงคราม มีการจ่ายเกลือเป็นค่าจ้างให้แก่ทหาร และบางครั้งก็ให้แก่คนงานด้วย เกลือมีค่าเสมือนเงินตราตลอดมา
หลายศตวรรษมาแล้วที่ราชสำนักจีนถือ ว่าเกลือเป็นที่มาของรายได้ของรัฐ มีการค้นพบตำราในจีนที่กล่าวถึงภาษีเกลือเมื่อ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล
มี การเขียนตำราการบริหารเกลือขึ้นเป็นครั้งแรกชื่อ "ก่วนจื่อ" ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยสิ่งที่เชื่อว่าเป็นคำแนะนำทางเศรษฐกิจของเสนาบดีคน หนึ่ง ที่มีชีวิตระหว่าง 685-643 ปีก่อนคริสตกาล ที่ให้แก่เจ้าผู้ครองแคว้นฉี โดยกำหนดราคาเกลือให้คงที่ในระดับที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมา เพื่อให้รัฐสามารถนำเข้าและขายเกลือเพื่อทำกำไร
นับเป็นครั้งแรก ที่รู้กันในประวัติศาสตร์ว่ามีการผูกขาดสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตด้วย การควบคุมของรัฐ รายได้ที่มาจากเกลือสามารถนำไปใช้ในการสร้างกองทัพ และยังใช้สร้างกำแพงเมืองจีน
...จากจีนข้ามมาที่ประเทศอียิปต์
ชาว อียิปต์ทำเกลือด้วยการนำน้ำทะเลบริเวณปากแม่น้ำไนล์มาทำให้ระเหย และอาจหาซื้อเกลือบางส่วนจากการค้าแถบเมดิเตอร์เรเนียน มีหลักฐานแน่ชัดว่าพวกเขาได้รับเกลือจากการค้ากับแอฟริกา โดยเฉพาะจากลิเบียและเอธิโอเปีย
แต่อียิปต์ก็มีทะเลสาบเกลือมากมาย หลายชนิด รวมทั้งเกลือป่นที่เรียกว่า "เกลือทางเหนือ" และเกลืออีกชนิดที่เรียกว่า "เกลือแดง" ซึ่งอาจมาจากทะเลสาบใกล้เมืองเมมฟิส
นาน ก่อนศตวรรษที่สิบเจ็ดและสิบแปด ที่นักเคมีเริ่มจำแนกและตั้งชื่อเกลือชนิดต่างๆ นักเล่นแร่แปรธาตุ หมอ และคนครัวสมัยโบราณรู้ดีอยู่ก่อนแล้วว่าเกลือมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีรสชาติและคุณสมบัติทางเคมีแตกต่างกัน จึงเหมาะกับงานต่างกัน
ชาว จีนได้คิดค้นดินปืนด้วยการแยกดินประสิว หรือโพแทสเซียมไนเตรต ชาวอียิปต์ค้นพบเกลือชนิดหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนตกับ โซเดียมคลอไรด์ปริมาณเล็กน้อย
ชาวอียิปต์โบราณเรียกนาตรอนว่า "เกลือศักดิ์สิทธิ์"
มีการค้นพบสุสานของฟาโรห์หนุ่มตุตันคาเมนเมื่อ ค.ศ.1922 เป็นสุสานที่วิจิตรบรรจงและรักษาได้ดีที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ หลุมของพระศพล้อมรอบด้วยแท่นบูชาสี่แท่น แต่ละแท่นมีถ้วยบรรจุเรซิ่นและนาตรอน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญสองอย่างที่ใช้ในการเก็บรักษามัมมี่
นักวิจัยโต้แย้งว่ามีการใช้โซเดียมคลอไรด์ในการทำมัมมี่หรือไม่ เป็นเรื่องยากที่จะรู้ เนื่องจากนาตรอนประกอบด้วยโซเดียมคลอไรด์ปริมาณน้อย ซึ่งทำให้เหลือร่องรอยของเกลือแกงนี้ในมัมมี่ทุกร่าง ดูเหมือนว่าจะมีการใช้เกลือโซเดียมคลอไรด์แทนนาตรอนในการฝังศพของผู้ที่ มั่งคั่งน้อยกว่า
เฮโรโดตุสได้อธิบายวิธีทำมัมมี่ของอียิปต์ไว้อย่างละเอียด ซึ่งจากการตรวจสอบและวิเคราะห์ทางเคมีของนักโบราณคดีปัจจุบัน เทคนิคการทำมัมมี่มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าทึ่งกับกรรมวิธีที่ชาวอียิปต์ ใช้เก็บรักษานกและปลาด้วยการควักไส้และหมักเกลือ
เป็นที่ชัดเจนว่าคนรุ่นหลังไม่ได้ลืมความเหมือนกันระหว่างการเก็บรักษาอาหารกับการเก็บรักษา มัมมี่ ในศตวรรษที่สิบเก้า เมื่อมีการนำมัมมี่จากสุสานที่ซักคาราและเธเบสไปยังกรุงไคโร มีการเก็บภาษีมัมมี่ในอัตราเดียวกับปลาเค็มก่อนที่จะอนุญาตให้เข้าเมือง
ความจริงที่ว่าในอียิปต์โบราณ มัมมี่คนจนใช้เกลือโซเดียมคลอไรด์ ส่วนมัมมี่คนรวยใช้เกลือนาตรอน แสดงให้เห็นว่าชาวอียิปต์ตีค่านาตรอนสูงกว่า ซึ่งตรงข้ามกับที่ปรากฏในส่วนอื่นๆ ของแอฟริกาโบราณ
โดยทั่วไปชาวแอฟริกาที่ร่ำรวยกว่าจะใช้เกลือที่มีส่วนประกอบของโซเดียมคลอไรด์สูงกว่า ส่วนนาตรอนเป็นเกลือของคนจน
ในแอฟริกาตะวันตกมีการใช้นาตรอนขาวทำเค้กถั่วที่เรียกว่า "คูนู" (Kunu) เชื่อกันว่านาตรอนในอาหารชนิดนี้มีประโยชน์ในการบำรุงมารดาที่ให้น้ำนมบุตร
นาตรอนเหมาะกว่าเกลือในการทำอาหารจากถั่ว เพราะเชื่อกันว่า คาร์บอเนตจะต้านก๊าซ ยังมีการใช้นาตรอนเป็นยารักษากระเพาะอาหารมาจนถึงปัจจุบัน
จากการที่นาตรอนเป็นโซดาไบคาร์บอเนตธรรมชาติ ยังเชื่อกันว่านาตรอนเป็นยากระตุ้นกำหนัดในเพศชายอีกด้วย
เกลือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวโรมันในการสร้างจักรวรรดิ พวกเขาสร้างโรงเกลือทั่วทุกหนแห่งในโลกที่พวกเขาขยายอาณาจักรออกไป ตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเล บึง และบ่อน้ำเค็มทั่วคาบสมุทรอิตาลี
ชาวโรมันไม่เพียงแต่ยึดครองเหมืองเกลือหลายแห่งของชาวเซลต์ในกอลและอังกฤษ แต่ยังรวมถึงโรงเกลือของชาวเฟนีเชี่ยนและชาวคาร์เทจในแอฟริกาเหนือ ซิซิลี สเปน และโปรตุเกส
นอกจากนี้ยังยึดโรงเกลือที่กรีซ ทะเลดำ และตะวันออกกลางโบราณ รวมทั้งที่ภูเขาโซดอม ใกล้กับทะเลสาบเดดซี ซึ่งมีการพิสูจน์ว่าโรงเกลือมากกว่าหกสิบแห่งเป็นของจักรวรรดิโรมัน
เกลือเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ
ตัวอย่าง เช่น บนโต๊ะเสวยของอาณาจักรฝรั่งเศสยุคกลางและยุคเรอเนสซองส์สมัยต่างๆ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ภาชนะบรรจุเกลือเป็นรูปเรือขนาดใหญ่ตกแต่งหรูหรา คือ เนฟ (nef) ซึ่งในที่นี้เป็นภาชนะประดับเพชรพลอย
เนฟเป็นทั้งกระปุก เกลือและเครื่องหมายของ "นาวาแห่งรัฐ" ขณะที่เกลือเป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพและการปกปักรักษา สื่อความหมายว่า สุขภาพของผู้ปกครองคือความมั่นคงของชาติ
ใน ค.ศ.1378 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ห้าแห่งฝรั่งเศส ทรงเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ซึ่งครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือ และก่อให้เกิดคำถามที่น่ากระอักกระอ่วนใจว่าควรจะวางเนฟไว้ตรงไหน ระหว่างเบื้องพระพักตร์ของพระองค์ หรือเบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่สี่ จักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงมีชาติกำเนิดเป็นชาวปรากและเป็นพระราชอาคันตุกะของพระองค์
นอกจากนี้ยังมีกษัตริย์เวนเชสลอสแห่งเยอรมนี พระราชโอรสขององค์จักรพรรดิก็ทรงร่วมในงานด้วย ผลสุดท้ายเลยจัดโต๊ะ โดยมีเนฟขนาดใหญ่สามใบสำหรับกษัตริย์แต่ละพระองค์
กระปุกเกลือที่วิจิตรบรรจงในรูปแบบต่างๆ ไม่เฉพาะรูปเรือเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เมื่อ ค.ศ.1415 ดุ๊กแห่งแบรี ผู้อุปถัมภ์งานศิลปะที่มีชื่อเสียงได้รับกระปุกเกลือจากช่างชื่อ ปอล เดอ ลัมบูร์ก เพิ่มเข้าเป็นส่วนหนึ่งในเนฟที่สะสมไว้
เป็นกระปุกเกลือที่ทำจากหินโมรา ฝาปิดทำด้วยทองคำ และที่จับเป็นแซฟไฟร์ประดับด้วยมุกสี่เม็ด
นี่เป็นเพียงไตเติ้ล เรื่องราวเกี่ยวกับเกลือที่มาร์ก เคอร์ลันสกี หยิบมาเล่าสอดแทรกไปกับประวัติศาสตร์โลก
เสียดายที่พื้นที่มีไม่มาก พอที่จะนำเสนอเรื่องน่าสนใจมากมายเหล่านี้ได้หมด
เอาเป็นว่า ใครที่ยังใคร่รู้ เรืองชัย รักศรีอักษร นำเรื่องราวทั้งหมดมาแปลเป็นภาษาไทยไว้ให้อ่านกันสนุกๆ เพลินๆ แต่ได้สาระเต็มเปี่ยมในหนังสือชุด World History
Credit : มติชนรายวัน 21 ตุลาคม 2551 หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01211051§ionid=0131&day=2008-10-21